เรื่องราวของเทย์เลอร์~นักวิ่งชายในภาพ ยิ่งทำให้เห็นความมหัศจรรย์ ผลของการวิ่งมาราธอน ว่าเปลี่ยนชีวิตใครบางคนได้มากมายแค่ไหน
เรื่องนี้เกิดขึ้นจริง จากอีกฟากที่สวยงามดุจสรวงสวรรค์ของแคลิฟอร์เนีย เฉียงไปทางตอนเหนือ กลับมีเรือนจำอายุเก่าแก่ 167 ปี ที่มีชื่อว่า“แซน เควนติน” ตั้งอยู่ติดกับอ่าวซานฟรานซิสโกที่นี่ถูกใช้เป็นที่จองจำนักโทษคดีร้ายแรง
ลองนึกภาพซีรีย์ยอดนิยมเรื่อง “Prison Break” ที่แซน ควิน คล้ายกับคุก “ฟ๊อกซ์ ริเวอร์” ในเรื่องนั้นที่รวบรวมอาชญากรตัวเอ้ของประเทศเอาไว้ มีแผนกสุดท้ายที่เรียกว่า “Death Row” หรือว่า แดนประหารรวมอยู่ด้วย
แสงสว่างจากดวงอาทิตย์ บางวันมิอาจส่องไปถึงจิตใจที่ตกต่ำ ของผู้ที่ถูกตีตรวน พวกเขาจำต้องอยู่ที่นี่หลายปี หรือไม่ก็ไม่ได้กลับออกไปอีก โทษที่ทำหนักหนาสาหัส Only God Forgives
อยู่มาวันหนึ่งในปี 2005 ครูสอนจริยธรรมชื่อว่า “ลอร่า โบว์แมน” เธอได้ลองทามทาบ “แฟรงก์ รูโอน่า” โค้ชกีฬาวัยเกษียณที่เคยผ่านการวิ่ง 78 มาราธอน 38 อัลตร้าฯ เคยที่ทีมวิ่งในชุมชนที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว มาเป็นที่ปรึกษาในการตั้งชมรมวิ่งในเรือนจำ
แฟรงก์ อาสารับหน้าที่เป็นโค้ชนักวิ่งหลังกำแพงสูง ทุกวันจันทร์และศุกร์ เพราะเขามีสมมุติฐานกับงานนี้อยู่ 2 เรื่องว่า “การวิ่ง เป็น รูปแบบหนึ่งของอิสรภาพ” และ “มาราธอนจะเปลี่ยนให้คนเรา กลับมามีความศรัทธามีความหวังในชีวิตอีกครั้ง”
แน่นอนว่า 2 เรื่องนี้ คือ ขั้วตรงข้าม ของนักโทษอุกฉกรรจ์ที่อยู่ที่นี่
ท่ามกลางความรุนแรง รวมถึงโรคซึมเศร้าตรอมใจแฟรงก์และลอร่าร่วมกันก่อตั้ง “The 1,000 Mile Running Club” ที่ตั้งชื่อหนึ่งพันไมล์ (1,609 กิโลเมตร)เพราะเป็นเกมตัวเลข ที่เอาไว้กำกับให้นักวิ่งในชมรม ฝึกซ้อม และเก็บระยะ อย่างมีเป้าหมายในระหว่างต้องโทษชวนวิ่งให้ครบพันไมล์
ตัวเลขนี้ – เริ่มเข้าไปมีความหมาย กับผู้ต้องโทษหลายสิบคนในยามเช้า แม้จะเป็นการวิ่งวนริมกำแพงข้างสนามในระยะไม่กี่ร้อยเมตรก็ตาม

เทย์เลอร์ คือ ดาวเด่นของคลับ
ในอดีตเขาเคยเป็นนักวิ่งครอสคันทรีฝีเท้าดี แต่เจอโทษหนัก ส่งตัวมาอยู่ที่แซน เควนติน ชดใช้กรรมหลายปี เล่าไปเหมือนหนังดราม่าที่ตัวเอกรอ “จุดเปลี่ยน” ช่วงปีแรกๆ , เทย์เลย์ถูกลงโทษอย่างสาสมไม่ว่าจะเป็นการถูกเหยียดผิว กลั่นแกล้ง แบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า
เขามีเพื่อนร่วมห้องขัง เตียงล่างผู้คอยหยิบยื่นน้ำใจให้ 1 คน แต่แล้วเพื่อนคนนี้ ถูกปฏิเสธการขอทัณฑ์บนครั้งที่ 4 เช้าวันต่อมา เทย์เลอร์แทบช็อก เจอเพื่อนนอนนิ่งจบชีวิตตัวเอง จากความผิดหวัง เพื่อนคนนี้สังกัด The 1,000 Mile อย่างเดียวที่นักกีฬาเก่า เช่นเขาพอจะทำให้เพื่อนได้ คือ ออกไปวิ่งอุทิศให้กับร่างที่ไร้วิญญาณ ที่ลุกขึ้นมาวิ่งตอนเช้าไม่ได้อีกแล้ว
นั่นเองทำให้เทย์เลอร์ โคจรมาเจอกับแฟรงก์ รูโอน่า ผู้เป็นโค้ช วันเวลายังทำหน้าที่ของมันไปอีกหลายปี คนผิดมีหน้าที่ใช้กรรมหลังลูกกรงเหล็ก
บรรยากาศที่อึมครึม วนเวียนกิจวัตรไปตามเสียงอ๊อด และการเคาะกระบองจากผู้คุม แต่ทุกวันมีช่วงเวลาสั้นๆ ครั้งละ 2 ชั่วโมง ให้นักโทษออกมาสูดอากาศรับแสงแดดเทย์เลอร์ เริ่มพบว่า การวิ่งใน “The 1,000 Mile Running Club” แม้จะรายล้อมไปด้วยคอนกรีตหนา แต่ชั่วโมงของการวิ่งและเจอโค้ชแฟรงก์ กลับเป็นชั่วโมงที่เขาได้แหวกว่าย มวลอากาศค้นพบอิสรภาพ เขาให้สัมภาษณ์ทำนองว่า“Running is the therapy การวิ่ง คือ การบำบัดจิตใจและร่างกาย เป็นทางออกเดียวของผมระหว่างติดอยู่ที่นี่”
เรื่องจริงหลังรั้วลวดหนามยังดำเนินไป
ปรากฏชื่อตัวละครอีกคน “เดฟ แม็คกริลเรย์” ผู้เคยทำหน้าที่เป็น Race Director ของงาน Boston Marathon ชมรมทำเรื่องสำคัญต่อพัศดี ให้สานต่อกีฬาวิ่งภายในเรือนจำ เป็นมินิมาราธอน 10K ที่วิ่งวนระหว่าง ป้อม 1 ไปป้อม 2 ไม่กี่ร้อยเมตร แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่ทำให้เกิดการแข่งขันกันในชมรมขึ้น
งานนี้ก็พิสูจน์ได้จริงๆ ว่า กีฬาวิ่งช่วยทำให้กลุ่มอันธพาล ที่เอาแต่ระรานคนอื่น ถูกกระบองฟาดไปวันๆ มาจับกลุ่มกันฝึกซ้อม เมื่อทุกคนได้สัมผัสกับ Runner’s High เอ็นโดรฟินหลังวิ่ง เป็นสิ่งที่มาชดเชยความสุข แต่ใครก่อเรื่อง ขาดซ้อมจะถูกตัดจากชมรมนี้ทันที ออกแล้วออกเลย แฟรงก์ เริ่มปูทางให้สมาชิกในกลุ่มเป็นนักกีฬา เพื่อสุขภาพของนักโทษเองที่ต้องอยู่ที่นี่หลายปี
แม้จะดูเป็นโลกในอุดมคติไปหน่อยว่า กีฬาสามารถคืนคนดีกลับสู่สังคม ?!? แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงที่แสนบิดเบี้ยวนี้ การวิ่งช่วยให้นักโทษกว่า 40 คน มีวินัย ลดความอ้วน และไม่ฉุนเฉียว พวกเขากลับคอยช่วยเหลือกันทุกคนได้พิสูจน์ตัวเอง การวิ่งไม่ใช่การถูกทำโทษอีกแล้ว ญาติที่มาเยี่ยมยังเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงพวกนั้นรายงานผลไปยังพัศดี
จุดพีคแรก ของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ คุณแฟรงก์ คุณเดฟ และคุณลอร่า
เสนอแผนต่อพัศดีในเฟสที่ 2 ว่า ขอให้ แซน เควนติน นำร่องจัดงานมาราธอนภายในเรือนจำขึ้นมา เป็นระยะเต็ม 42.195 กิโลเมตร ที่ใช้อาณาเขตจำกัด ระยะควอเตอร์ไมล์ (1/4 Mile) นักวิ่งต้องวิ่งวนไป-กลับ มีการจับเวลา วัดระยะ บันทึกสถิติอย่างเคร่งครัด เชิญอาสาสมัคร และบุคคลภายนอกมาร่วมสังเกตการณ์ ครั้งแรกมีนักวิ่งวิ่งราว 30 ชีวิต มาราธอรนอกคอกสนามนี้ หวังขยายผลในเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศทดลองทำต่อไป
เทย์เลอร์ – เล่ากับนิวยอร์กไทม์ว่า “ไม่น่าเชื่อผมจบมาราธอนแซน เควนติน 4 ครั้ง นั่นเป็นความทรงจำที่ดีที่สุดในซังเตของผม”
ผลการวิ่งมีดังนี้
เริ่มที่ ปี 2015 – 3:16:07 มาราธอนแรก
ปี 2016 – 3:21:19
ปี 2017 – 3:20:19
และ ปี 2018 – 3:10:42 ! สร้างคอร์สเร็ดคอร์สที่เร็วที่สุด
จุดพีคที่สอง
ความที่คุณเดฟ เคยเป็นคณะกรรมการบอสตันมาราธอน เขายื่นเรื่องต่อ BAA – Boston Athletic Association ให้รับรองสถิติของสนาม แซน เควนติน มาราธอน สามารถนำไปยื่นคลอลิไฟน์ งานม้ายูนิคอร์นได้ เพราะมีระยะทางการจัดงาน ที่ได้มาตราฐานถึง 4 ปี อีกอย่างสถิติของเทย์เลอร์ ในวัย 45 ปีนั้น ผ่านเกณฑ์ความเร็ว หรือ boston qualifier ที่นักวิ่งชายอายุ 45-49 ปี ต้องวิ่งได้ 3:25 ชม. แต่เทย์เลอร์ดันวิ่งไป 3:10 ชม.
เจ้าของฉายา “ เดอะ กาเซลล์ ออฟ เดอะ วอลล์”
(สัตว์บกที่ปราดเปรียวหลังกำแพงสูง) ทำความเร็วที่ Pace 4:30/Km เรื่องนี้ทาง BAA แบ่งรับแบ่งสู้ มีกรรมการบางท่านไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้นัก อีกอย่างนี่เป็นเคสที่ไม่เคยพบมาก่อน ที่ผู้ยื่นยังอยู่ในเรือนจำ
เหตุผลที่มีความหมายและเป็นข้อต่อรอง คือ วันแข่งบอสตันมาราธอน ตรงกับวันจันทร์ที่ 15 เมษายน 2019 และเทย์เลอร์จะพ้นโทษเป็นไท ในวันที่ 2 มีนาคม 2019 นั่นเท่ากับว่า วันแข่งเขามีคุณสมบัติทัดเทียมกับนักวิ่งคนอื่น
และแล้วเหตุผลข้อนี้ก็ฟังขึ้น เขาผ่านเกณฑ์ได้วิ่งบอสตัน ถือเป็นตัวแทนนักวิ่งจากเรือนจำ แซน เควนติน คนแรก โดยมีชมรมวิ่ง “The 1,000 Mile Running Club” เทใจเชียร์
แต่ก็เหมือนกับที่ตัวละครชื่อ “เรด” (มอร์แกน ฟรีแมน) ในภาพยนตร์เรื่อง Shawshank Redemption กล่าวไว้ทำนองว่า “โลกที่อยู่นอกรั้วนั่น อาจไม่เหมาะกับพวกเราอีกแล้ว เพราะนายอยู่ที่นี่มานานเกินไป มีสายตาที่ไม่เคยให้อภัยคนอย่างพวกเรา”
มาถึงจุดพีคที่สาม วันงาน !
เทย์เลอร์ที่เพิ่งพ้นโทษไม่กี่สัปดาห์ เขาได้แต่วิ่งในพื้นที่จำกัดมีรั้วรอบขอบชิด วิ่งวนในที่แคบๆ มาหลายปี แต่ครั้งนี้ต้องมาบดฝีเท้าบนถนนจริง สูดกลิ่นใบไม้ ถลาลงเนิน วิ่งบนถนนที่ค่อนข้างโรลลิ่งของบอสตัน ผลจะเป็นเช่นไร ความอัดอั้นตันใจที่เก็บไว้รอวันปลดปล่อย
ขณะที่ออกสตาร์ทจากเมืองฮ็อปคินตัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาแบกรับทั้งความกดดัน ความฝัน ตลอดจนอดีตร้ายๆ ที่ยังเป็นเงาตามตัว ทว่าการวิ่งครั้งนี้ ถือที่เป็นตัวแทนของอิสรภาพใหม่ เหมือนได้เกิดใหม่ วิ่งในความรู้สึกที่ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต มีแค่ตอนนี้Seize the Moment
เขากระโจนเข้าหาสายลมที่พัดมาตีหน้า วันนั้นจบบอสตันมาราธอน ที่เพซเฉลี่ย 4:22/Km ทำเวลาได้ดีกว่เดิมถึง 7 นาที ! นั่นคือ 3:03:52 ชั่วโมง
หลังเข้าเส้นชัย Bib หมายเลข No. 29739 ได้คล้องเหรียญยูนิคอร์นอย่างผู้มีเกียรติ เขาได้พบกับโค้ชแฟรงก์ รูโอน่า ลอร่า โบว์แมน 2 บุคคลที่เสมือน ผู้ประกอบสร้างจิตวิญญาณแห่งการวิ่ง ให้กับเทย์เลอร์ให้เปลี่ยนจากนักโทษ เป็นมาราธอนฟินิชเชอร์ ซ้ำยังเป็นในงานวิ่งมาราธอนที่เก่าแก่ที่สุดของโลกต้องขอบคุณ เดฟ แม็คกริลเรย์ ที่ดันเรื่องนี้จนสุด
ยิ่งไปกว่านั้นผลเวลาที่ดีกว่าเดิม 7 นาที ทำให้ทาง BAA รับรองว่าในปี 2020 เทย์เลอร์ผ่านเกณฑ์สามารถกลับมา วิ่งที่นี่ได้อีกครั้ง เจ้าตัวจะฟิตซ้อมต่อไปเพื่อหวังทำเวลามาราธอนต่ำกว่า 3 ชั่วโมง เรื่องนั้นคงมีความหมายช่วยปลดเปลื้องพันธนาการบางสิ่งบางอย่าง ที่คั่งค้างในใจชายวัย 46 ปี จาก “The 1,000 Mile Running Club” คนนี้ได้ต่อไป
“การวิ่ง เป็น รูปแบบหนึ่งของอิสรภาพ” และ “มาราธอนจะเปลี่ยนให้คนเรากลับมามีความศรัทธามีความหวังในชีวิตอีกครั้ง” ภาพชีวิตของ มาร์เคิลเล่ เทย์เลอร์ น่าจะตรงและเป็นไปอย่างที่โค้ชแฟรงก์ รูโอน่า เคยเชื่อเช่นนั้นเมื่อ 14ปี
Side Story
1. เรื่องของเทย์เลอร์ ได้รับการถ่ายทอดเป็นหนังสารคดีชื่อ 26.2 to Life โดยคริสติน ยู ที่ขอระดมทุนผ่าน Kickstarter
2. ระหว่างที่อยู่ในแซน เควนติน หนึ่งในโค้ชอาสาสมัครที่เทรนให้กับเทย์เลอร์ คือ ดีแลน โบว์แมน นักวิ่งอัลตร้าเทรล์ แชมป์ UTMF2016
3. รวมเวลาแล้ว มาร์เคิลเล่ เทย์เลอร์ ถูกจำคุก 17 ปี 7 เดือนในคดีความรุนแรงทำร้ายผู้อื่นด้วยโทสะไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน (second-degree murder)
4.ในอเมริกาปี 2017 มีนักโทษ 1.4 ล้านคน มีแนวโน้มว่านักโทษจะเจ็บป่วยจบชีวิตในเรือนจำสูงขึ้น
5. กระบวนการยุติธรรมเร่งหา sports programs นำกีฬามาเป็นตัวช่วยเรื่องสุขภาพหนึ่งในนั้น คือ การวิ่ง
ติดตามความเคลื่อนไหวกีฬาไทย และ กีฬาต่างประเทศ รวบรวม ไฮไลท์ฟุตบอลเมื่อคืน , โปรแกรมฟุตบอล , ฟุตบอลวันนี้ ,ฟุตบอลคืนนี้
#กีฬาทั่วไป , #สกู๊ปทั่วไป , #กีฬามวย , #กีฬาเบสบอล , #ผลการแข่งขันสนุ๊กเกอร์ , #วิเคราะห์สนุ๊กเกอร์ , #baseball-scores.net